วันอาทิตย์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2560

การใช้ประโยคในภาษาไทย

ประโยคในภาษาไทย


ประโยค
ประโยค หมายถึง ข้อความที่มีทั้งภาคประธาน และภาคแสดง  มีใจความสมบูรณ์ครบถ้วน รู้ว่าใครทำอะไร ที่ไหน อย่างไร

ประโยคแบ่งตามจำนวนเนื้อความได้ ๓ ชนิด คือ
๑.  ประโยคความเดียว (เอกัตถประโยค) คือประโยคที่มีใจความเดียว คือมีบทประธานบทเดียว และบทกริยาเพียงบทเดียว เช่น 

ก้อยเล่นแบดมินตันที่สโมสร
รถของคุณแม่เสียบ่อย ๆ
เจ้าแต้มสุนัขข้างบ้านจะกัดเจ้าวุ่นของฉัน
ฉันกำลังอ่านหนังสือสารคดีด้วยความสนใจ
น้อง ๆ ชั้นปีที่ ๑ เชื่อฟังพวกเราพี่ชั้นปี ๒ อย่างดี
ข้อสังเกต ประโยคความเดียว สันธานที่ใช้เชื่อมบทกรรมหรือวิเศษณ์เป็นการเชื่อมคำ

๒.   ประโยคความรวม (อเนกัตถประโยค) คือ ประโยคที่รวมประโยคความเดียวตั้งแต่ ๒ ประโยคขึ้นไปเข้าด้วยกัน โดยมีสันธานเป็นเครื่องเชื่อม เช่น

เก่งทำงานบ้านและร้องเพลงเบา ๆ
อาหารและยาเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมนุษย์
หลานช่วยพยาบาลย่าจึงหายป่วยเร็ว
ดีทูบีเป็นนักร้องแต่คัทรียาเป็นดาราภาพยนตร์
เธอจะทานผลไม้หรือขนมหวาน
ข้อสังเกต สันธานใช้เชื่อมประธานหรือกริยาเป็นการเชื่อมประโยค

๓.   ประโยคความซ้อน (สังกรประโยค) 

ประโยคความซ้อน (สังกรประโยค) หมายถึง ประโยคที่รวมประโยคความเดียว ๑ ประโยคเป็นประโยคหลัก แล้วมีประโยคความเดียวอื่นมาเสริม มีข้อสังเกตคือ ประโยคหลัก (มุขยประโยค) กับ ประโยคย่อย (อนุประโยค) ของประโยคความช้อนมี น้ำหนังไม่เท่ากัน

ลักษณะของประโยคความซ้อน
๑.   เป็นประโยคที่รวมเอาประโยคความเดียว ๒ ประโยคไว้ด้วยกัน และมีสันธานเป็นเครื่องเชื่อม

๒.  เมื่อแยกประโยคความซ้อนออกจากกันแล้ว จะมีน้ำหนักหรือความสำคัญไม่เท่ากัน ประโยคหนึ่งจะเป็นประโยคหลัก อีกประโยคหนึ่งจะเป็นประโยคย่อย

๓.  ประโยคย่อยทำหน้าที่เป็น

ประธานของประโยค
กรรมของประโยค
วิเศษณ์ขยายกริยา หรือวิเศษณ์ของประโยค
วิเศษณ์ขยายประธานหรือกรรม
ตัวอย่างของประโยคความซ้อน
๑.   คุณลุงเอ็นดูหลานซึ่งเป็นกำพร้าตั้งแต่อายุ ๗ ปี

๒.   คุณปู่ฟังเพลงไทยเดิมมันมีลีลาเนิบนาบ

๓.   คุณตารับประทานยาที่ได้มาจากโรงพยาบาล

๔.   บุคคลผู้มีอายุครบ ๑๕ ปี ต้องทำบัตรประจำตัวประชาชน

๕.   สมบัติอันมีค่ามหาศาลถูกฝังอยู่ในนี้

๖.   ป้าแก้วทำกับข้าวเลี้ยงแขกที่มาจากที่อื่น

ประโยคความซ้อนมี ๓ ประเภท ดังนี้
๑.   ประโยคความซ้อนที่ประโยคย่อยทำหน้าที่เหมือนคำนาม (นามานุประโยค) เช่น

                                ๑.   ฉันไม่ชอบคนรับประทานอาหารมูมมาม  (กรรม)

                                ๒.   คนขาดมารยาทเป็นคนน่ารังเกียจ  (ประธาน)

                                ๓.   ฉันไม่ได้บอกเธอว่าเขาเป็นคนฉลาดมาก  (กรรม)

                                ๔.   คนไม่ทำงานเป็นคนเอาเปรียบผู้อื่น  (ประธาน)

                                ๕.  คนทะเลาะกันก่อความรำคาญให้เพื่อนบ้าน (ประธาน)

                                ๖.   ฉันไม่ชอบคนเอาเปรียบผู้อื่น (กรรม)

                                ๗.   ผมถามคุณ พี่สาวหายป่วยแล้วหรือยัง (กรรม)

                                ๘.   สุนันท์เล่าว่า เขาไปเที่ยวทางเหนือสนุกมาก (กรรม)

๒.   ประโยคความซ้อนที่มีประโยคย่อยทำหน้าที่คล้ายคำวิเศษณ์ขยายคำนามหรือขยายสรรพนาม และมีสันธาน ที่   ซึ่ง  อัน  เป็นเครื่องเชื่อม เช่น

                                ๑.   ท่านที่ร้องเพลงอวยพรโปรดมารับรางวัล

                                ๒.   เราหวงแหนแผ่นดินไทยอันเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของเรา

                                ๓.   ฉันเห็นภูเขาซึ่งมีน้ำขังอยู่ข้างใต้

                                ๔.   ครูที่ใกล้ชิดกับนักเรียนมากย่อมทราบอุปนิสัยของนักเรียน

                                ๕.   คนที่ประพฤติดีย่อมมีความเจริญในชีวิต

                                ๖.   ก้อยคอยไล่นกกระจอกที่มาขโมยข้าว

                                ๗.   พวกที่ออกมาตีนกอีลุ้มได้นำเรือเข้ามาหลบฝน

                คำที่เชื่อมประโยคหลักกับประโยคย่อยให้เป็นประโยคความซ้อนแบบนี้ได้แก่  ที่  ซึ่ง  อัน เรา เรียกว่า ประพันธสรรพนาม หรือสรรพนามเชื่อมประโยค

๓.   ประโยคความซ้อนที่มีประโยคหลักและประโยคย่อย  และประโยคย่อยนั้น ๆ อาจทำหน้าที่เหมือนคำนามก็ได้ ทำหน้าที่เหมือนคำวิเศษณ์ก็ได้ จะมีสันธาน  เมื่อ, จน, เพราะ, ตาม, ราวกับ, ให้, ทว่า, ระหว่างที่, เพราะเหตุว่า, เหมือน, ดุจดัง, เสมือน, ฯลฯ เป็นตัวเชื่อม เช่น

                                ๑.   เพื่อน ๆ กลับไปเมื่องานเลิกแล้ว

                                ๒.   ปลัดอำเภอทำงานหนักจนป่วยไปหลายวัน

                                ๓.   เธอนอนตัวสั่นเพราะกลัวเสียงปืน

                                ๔.   คนป่วยกินยาตามหมอสั่ง

                                ๕.   ฉันอ่านหนังสือพิมพ์ระหว่างที่นั่งรอเพื่อน

                                ๖.   วันนี้เจ้านายไม่มาเนื่องจากเขาเป็นไข้หวัดใหญ่


                                ๗.   ก้อยทำงานเรียบร้อยกว่าเก่ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น